การส่งมอบ empathy ไม่ใช่การแค่พูดแต่เรื่องดีดีและชวนมองแต่มุมสวยๆของชีวิต ตรงกันข้ามอย่างสนิท..
การมี empathy คือการอนุญาตให้พื้นที่กับเรื่องทุกเรื่องของชีวิตมีที่ทางเกิดขึ้นได้ และเราก็เผชิญหน้ากับมันได้อย่างเข้าอกเข้าใจ…
การสื่อสารแบบมี empathy คือ การสื่อสารด้วยวิธีที่เอาอีกฝ่ายเป็นตัวตั้ง แต่ยังคงเนื้อหาใจความที่เราต้องการสื่อสารไว้ได้..
เมื่อต้องแจ้งข่าวที่อีกคนยากจะรับฟัง บอกเลิกจ้าง บอกเลิกกัน บอกลดระดับความสัมพันธ์ บอกลดระดับเงินเดือน บอกว่าเป็นโรคร้าย บอกว่าเขาจะไม่ได้อย่างที่หวัง.. แน่นอนว่าเขารับฟังแล้วจะรู้สึกเจ็บปวด เจ็บปวดอยู่แล้ว.. ไม่ต้องคาดหวังว่ามันจะง่ายสำหรับเขาให้เราผิดคาด เตรียมใจไปเลยว่าเรากำลังจะมอบสารที่ทำให้เขาเจ็บ แต่.. เราเลือกได้ว่าจะบอกแบบยังมีหัวจิตหัวใจหรือจะบอกแบบตัดรอนเยื่อใยแบบที่มนุษย์ AI เขาทำกัน
ถ้าเลือกบอกแบบให้เขารู้ว่าเราก็ยังมีหัวใจ.. เก็บข่าวร้ายใส่กระเป๋าชั่วคราว แล้วทำสิ่งนี้ก่อน..
1. เลือกเวลา และสถานที่
เลือกที่เขาจะฟังแล้วจะเจ็บปวดได้อย่างไม่ต้องห่วงอะไร เช่น
ไม่ต้องห่วงอันตราย (อย่าโทรบอกตอนเขาขับรถหรืออยู่หน้างาน)
ไม่ต้องห่วงอาย (อย่าบอกตอนเขาอยู่ในวงกับคนอื่น)
ไม่ต้องห่วงภาระ (อย่าบอกตอนเขากำลังไปสอบ) เป็นต้น
อย่าเลือกบอกตอนเราสะดวกหรือตอนที่อยากบอก empathy คือการยอมให้อีกฝ่ายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เราเป็นตัวตั้ง
2. ปูฟูกก่อนเริ่มบอก
เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเขาเตรียมใจแค่ไหนกับข่าวร้ายนี้แค่ไหน เช่น พอรู้แล้วว่าวันนี้กำลังจะมาถึง อาจจะมาถึงสักวัน หรือเห็นว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้
เพราะฉะนั้นเราควรสำรวจเขา โดย..
(1)สังเกตท่าทีที่เขามีอยู่ เมื่อเราถามว่า ‘เธอ/คุณ คิดยังไงกับ..กับความสัมพันธ์ของเรา/ งานของคุณ/ สุขภาพของคุณ
(2)ตั้งคำถามเพื่อฟังมุมมองของเขาที่มีต่อตัวเองในเรื่องที่เราจะแจ้ง ขออย่างเดียวว่า.. เริ่มจากหัวข้อกว้างๆ ไม่จู่โจมสู่ประเด็น แล้วก็ถามวนไปเหมือนก้นหอยจากนอกเข้าใน..
แล้วระหว่างนี้เราค่อยเพิ่มดีกรีความลำบากใจในน้ำเสียงและท่าทีทีละนิดๆ.. จนกว่าเขาจะรับรู้ได้ว่าเราทั้งสองคนจะเข้าเขตความยากมากๆต่อไปด้วยกัน หรือไม่ก็บอกแบบตรงๆไปว่า ‘มันก็เป็นเรื่องยากมากสำหรับเราที่จะต้องบอกเรื่องนี้กับคุณ’
ค่อยๆปูฟูกล้อมรอบที่ที่เขาอยู่เผื่อเค้าล้มและค่อยๆช่วยให้เขาทำใจรอฟังได้อย่างมีเวลา
3. รอเขาหงายไพ่
เมื่อเขาเริ่มเข้าใจสถานการณ์จากน้ำเสียงที่ลำบากใจขึ้นเรื่อยๆของเรา เขาเข้าสู่โหมดพร้อมจะฟังเพราะรับรู้การปูฟูกมารองไว้รอบๆเค้าแล้วประมาณหนึ่ง.. เขาจะหงายไพ่อยากรู้และบอกเปิดมาเป็นนัยๆว่าพร้อมจะฟัง เมื่อนั้นเราค่อยๆทยอยบอกแบบเบามือ
4. แบ่งก้อนข่าวร้ายออก
ได้เวลาค่อยๆเปิดกระเป๋าเพื่อเอาข่าวร้ายออกมาบอกเขา..
ถ้ามองข่าวร้ายนี้เป็นก้อนขนมชั้น เราจะลอกมันออกทีละชั้นแล้วส่งให้เขาค่อยๆรับไป หรือถ้าเป็นเค้กก็จะค่อยๆตักให้ทานทีละชิ้น เพราะส่งให้กินทั้งก้อนก็จุกจนฟังต่อไม่ไหว ไม่โยนส่งให้ไปทั้งก้อนเด็ดขาด
และ.. สำคัญมากที่เจะเลือกใช้คำที่อ่อนโยนไม่ทิ่มแทง หาชุดคำที่ไม่กล่าวโทษตัวเขา ไม่บั่นทอนศักดิ์ศรี และไม่ลดทอนคุณค่าของมันโดยทำเป็นเรื่องเล่นๆธรรมดาๆ
เพราะ.. ความจริงชุดนี้โหดร้ายกับเขาหนักหนาแน่ๆแม้เราพูดด้วยวิธีที่เบามือที่สุดแล้วก็ตาม
5. ทยอยมอบภาชนะ
ภาชนะคือ พื้นที่ในใจเราที่ยื่นเข้าไปให้เขาแสดงอารมณ์ที่สั่นล้นออกมา ระหว่างที่เรากำลังบอกข่าวไม่ค่อยดี..มวลอารมณ์ของเขาจะเข้มข้นและแกว่งไกว มันเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ ตั้งสติรอไว้ อย่าไปเบรกเขาให้ใจเย็นๆ ให้พื้นที่แก่อารมณ์ของเขาปล่อยออกมาและเรารองรับมันเอาไว้ อย่าเททิ้ง อย่าวิ่งหนี นั่นแปลว่า..ก่อนหน้าจะเจอเขาทำใจเอาถ้วยเอาชามติดกระเป๋าไปด้วยเลย เขามีอารมณ์เอ่อล้นออกมาแน่นอน
6. สะท้อนทุกอารมณ์
บอกเขาว่าเรารับรู้มวลความรู้สึกที่เขามีและบอกเขาว่าถ้าเราอยู่ในที่ของเขาเราคงรู้สึกคล้ายๆแบบนี้เหมือนกัน ช่วงเวลานี้สามารถลองเอาความรู้สึกเขามาใส่ไว้ที่ตัวเรา งดใช้ non – empathy words ที่พยายามให้เขาหายเสียใจภายในไม่กี่นาที
ตรงกันข้าม..เราอนุญาตให้เขาเสียใจแล้วเราอยู่เคียงข้างไปกับเขา งดขัดอะไรเขา ห้ามสั่ง ห้ามสอน …ถ้าจะพูดอะไร พูดไปในทิศทางเดียวกับที่เขารู้สึกและยืนยันว่าเราก็เสียใจไปกับเขาเหมือนกัน ถ้าไม่อย่างนั้น..เงียบจะดีกว่า
7. สรุป..ทวน
ก่อนจบและจากลา เราสรุปทวนคร่าวๆกับเขาว่า
_ เราเห็นว่าเขาเสียใจแค่ไหน
_ วันนี้เราสัมผัสถึงความรู้สึกอะไรที่เขามีบ้าง
_ ใจความสำคัญที่เราได้สื่อสารออกไปมีอะไร
สรุปทั้งหมดเพื่อความเข้าใจกันอีกที
….
นี่คือวิธีบอกข่าวร้ายแบบเข้าอกเข้าใจ…แต่ถ้าอยากเลือกแบบเย็นชาหัวใจ ก็สามารถบอกแบบส่งๆไปก็ได้ บอกแบบเจ็บๆทิ่มแทงลงไปที่หัวใจ หรือบอกแบบสร้างความเจ็บช้ำฝังใจให้เขารู้สึกลดทอนคุณค่าตัวเองไปอีกสองสามปี อันนี้ไม่ต้องบอกวิธี…ทุกคนทำเป็น…