Empathy #ยาลดโกรธ
อารมณ์โกรธเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่อารมณ์น่ารังเกียจอะไร แต่พอความโกรธสะสมพอกพูนไว้มันสามารถสร้างความรู้สึกไม่อยากจะโกรธบ่อยให้กับเจ้าตัวได้เหมือนกัน
เพราะ.. โกรธบ่อยก็เหนื่อย โกรธถี่คนรอบตัวก็หนี และหลายทีโกรธไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น และหลายคนไม่ชอบตัวเองเวลาโกรธ
ถ้าไม่อยากโกรธบ่อยแล้ว empathy มาช่วยตรงนี้ได้ยังไง
หลายคนไม่รู้ตัวว่าความโกรธบางส่วนที่มีในใจเกิดจากการไม่สามารถเข้าใจได้ว่า คนอื่นๆทำแบบนั้นทำไม ทำไมคนถึงทำสิ่งที่เราไม่ชอบ ทำไมสิ่งที่คนอื่นทำถึงขัดใจจนหงุดหงิด เราจะได้ยินคนบ่นบ่อยๆว่า …
“ไม่เข้าใจ! ทำไมหัวหน้าไม่ยอมให้ Work From Home”
“ไม่เข้าใจ..ทำไมแม่ชอบเปิดประตูห้องไม่เคาะประตู”
“ไม่เข้าใจ..ทำไมเพื่อนพูดจาแรงใส่ตอนเราเศร้า”
“ไม่เข้าใจ!!.. ทำไมมาบอกเลิกกันตอนนี้”
“ไม่เข้าใจ..ทำไมไม่รัฐจัดการบริหารสถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้!”
เราใช้คำว่าไม่เข้าใจในแง่การระบายอารมณ์ เราพ่น เราบ่น แล้วเราโล่งจากความคับข้องใจ แต่แล้ว..เราก็กลับไปใช้ชีวิตตามเดิมในแบบที่ก็ยังๆไม่เข้าใจจริงๆว่าสิ่งต่างๆเป็นแบบนี้เพราะอะไร
Empathy เริ่มต้นที่ความ “อยากเข้าใจ”
มันจะทำให้ต่างออกไปยังไงนะถ้าเราเริ่มรู้สึกขุ่นเคืองแล้วเราเห็นตัวเองเริ่มพ่น เราเริ่มบ่น แล้วเราได้ยิน Keywordจากปากเราเองว่า “ไม่เข้าใจ!..บลา บลา….” ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่ชัดมากแล้วว่าเรากำลังเริ่มโกรธ… จากนั้นเราก็กดปุ่มความต้องการอยากจะเข้าใจ ให้empathyเริ่มทำงาน
โดยเริ่มจาก…
1. เปิดพื้นที่ในใจ: พยายามคิดว่ามันน่าจะมีอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาตัดสินใจแบบนี้ เปิดพื้นที่ให้ความเป็นไปได้อีกมากมายที่เราอาจคิดไม่ถึง และบอกกับตัวเองว่าเขาน่าจะมีเหตุผลหรือเหตุจูงใจอะไรสักอย่างที่ทำให้ทำสิ่งนั้นขึ้น
“ไม่เข้าใจ! ทำไมหัวหน้าไม่ยอมให้ WFH”
— เป็นนโยบายบริษัทรึเปล่า/ หัวหน้าก็อาจคิดเหมือนเราก็ได้
“ไม่เข้าใจ..ทำไมแม่ชอบเปิดห้องไม่เคาะประตู”
— แม่ก็ไม่รู้ว่าต้องเคาะรึเปล่า/ แม่ไม่รู้ว่าเราไม่ชอบรึเปล่า
“ไม่เข้าใจ..ทำไมเพื่อนพูดแรงใส่ตอนเราเศร้า”
— เพื่อนนึกว่าพูดแรงแล้วช่วยรึเปล่า/ เพื่อนพูดไม่เป็นรึเปล่า
“ไม่เข้าใจ!!.. ทำไมมาบอกเลิกกันตอนนี้”
— เขาคิดว่าตอนนี้ดีแล้วรึเปล่า/ เขาหมดความอดทนตรงนี้รึเปล่า
“ไม่เข้าใจ..ทำไมไม่รัฐจัดการบริหารสถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้!”
— เขามีความสามารถเท่านี้รึเปล่า/ เขามีข้อจำกัดที่เราไม่รู้รึเปล่า
เราไม่วันรู้ความจริงหรอกว่าอะไรทำให้เขาทำสิ่งต่างๆนั้น แต่การที่ออกเรือความคิดไปสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ เป็นการเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้อื่นๆ และเป็นการประวิงการตัดสินและแปะฉลากว่าเขาเป็นคนโง่ แย่ ร้ายกาจ และน่าผิดหวัง ซึ่งถ้าเราแปะฉลากเขาว่าแบบนั้น ความโกรธเขามันมาได้เร็วมาก
2. เปิดโอกาสหาคำตอบ : ให้ตัวเองค้นหาคำตอบจากสิ่งที่เราไม่เข้าใจ… การสื่อสารเป็นเส้นทางของempathy และการสื่อสารในที่นี้หมายรวมถึงการตั้งคำถามและรอรับฟังอย่างไม่มีอคติ การตั้งคำถามแบบไม่ตั้งแง่กับคนที่เราอยากจะโกรธเป็นการชะลอให้เราโกรธเขาได้ช้าลง
หรือ.. ถ้าหากหาคำตอบจากเจ้าตัวลำบาก การค้นคว้าหาข้อมูลก็จะช่วยให้เจอคำตอบที่สามารถอธิบายพฤติกรรมหรือสถานการณ์ที่ทำให้เราโกรธได้
โกรธไม่ลง.. หลายคนพอรู้ความจริงหรือรู้ความในใจของคนที่ตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ก็เกิดอาการโกรธไม่ลง และนั่นทำให้ความโกรธของเราออกมาทำงานช้าลง
หลายครั้งเมื่อเราเข้าใจผู้อื่นจากจุดที่เขายืนอยู่เราจะเข้าใจ และการยอมรับว่าสิ่งต่างๆ “มันเกิดขึ้นได้” มันก็พาเราเข้าใกล้กับคำว่ายอมรับได้ และหลายคนสามารถปล่อยโหมดยอมอภัยได้อย่างเป็นธรรมชาติ
—-
กระบวนการแบบนี้นอกจากจะใช้กับคนอื่นเวลาที่เราอยากจะโกรธเขาแล้วมันยังสามารถปรับใช้กับตัวเองก็ได้ มีคนมากมายที่โกรธตัวเองแบบไม่รู้ตัว โกรธที่ตัดสินใจพลาด โกรธที่พูดอะไรแย่ๆออกไป โกรธที่ทำอะไรไม่ได้ การลดการตัดสินว่าตัวเองโง่ แย่ ห่วย อุบาศว์ ฯลฯ
การมอบ empathyให้ตัวเองช่วยลดความเกรี้ยวโกรธตัวเองได้มาก การเปิดพื้นที่ให้ตัวเองว่า “ตอนนั้นมันก็มีเหตุผลบางอย่างที่พาให้ตัดสินใจแบบนั้น” เช่น ในสถานการณ์คับขัน นั่นคือทางเลือกที่ดีที่สุดที่คิดออกตอนนั้น หรือตอนนั้นมีข้อมูลเท่านั้นก็เลยตัดสินใจไปเท่าที่คิดวาดี และการเปิดโอกาสให้ค้นหาคำตอบว่าอะไรที่ทำให้ตัดสินใจไปแบบที่มันเกิดขึ้นแล้วก็นำมาซึ่งการอภัยตัวเองมากกว่าการโกรธแค้นตัวเองเวลาทำอะไรพลาดๆไป
Empathy ลดความโกรธอันเนื่องจากความ “ไม่เข้าใจ” ได้ …..
#empathyismindmedicine #ยาสามัญประจำใจ #empathysauce #ยาลดโกรธ