Book Now
Empathy Sauce SOULSMITH
empathy tips

15 คำถามคาใจเกี่ยวกับ Empathy (Part 1)

 

15 คำถามคาใจเกี่ยวกับ Empathy (Part 1)

ตอบคำถาม โดย            ทัศยา เรืองศรี นักจิตบำบัดและนักเล่นบำบัดจาก The Oasis

คำถามและเรียบเรียง: empathy sauce

 

1. Empathy คืออะไร เป็นสิ่งที่เราฝึกกันได้หรือไม่
Empathy คือความสามารถที่จะรู้สึกหรือเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นกำลังมีประสบการณ์อยู่ทั้งในเชิงประสบการณ์ทางความคิด ทางอารมณ์ และทางร่างกาย พวกเราส่วนใหญ่มีความสามารถนี้ไม่มากก็น้อย แต่การที่จะแสดงออกถึงความเข้าใจนี้เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน

2. มอบ Empathy ให้คนอื่นอย่างไร ไม่ให้มากเกินไป
การมอบ Empathy ไม่ให้มากเกินไปสามารถทำได้ผ่านการสะท้อนสิ่งที่เราเห็นในอารมณ์และในความคิดของอีกฝั่ง โดยใช้ถ้อยคำที่ไม่ฟันธงแต่บ่งบอกถึงแนวโน้มของสิ่งที่เห็น เช่น ดูเหมือนคุณกำลังโกรธ เป็นต้น โดยที่ใช้น้ำเสียงและท่าทีในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาวะอารมณ์ของคนนั้นๆ

3. เราจะได้ Empathy จากคนที่ไม่มี Empathy ได้อย่างไร
คำถามนี้ตอบยากเพราะบางทีเราไม่รู้ว่าคนคนนั้นมีความสามารถที่จะมี Empathy ได้ไหม มีคนบางกลุ่มที่มีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเข้าใจประสบการณ์ผู้อื่นได้ เช่น ไซโคพาธ (Psychopath) หรือบุคคลที่มีอาการของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม
จุดเริ่มต้นที่เรียบง่ายที่สุดที่จะได้ Empathy สามารถทำได้ด้วย “การสื่อสาร” สิ่งที่ตัวเราต้องการให้ชัดเจนที่สุด
เช่น

“ฉันเสียใจนะและฉันก็อยากให้เธอเข้าใจความรู้สึกของฉัน”
หรือ
“เธอไม่บอกให้ฉันช่างมันเถอะได้ไหมเพราะการพูดแบบนั้นมันไม่ช่วยอะไรฉันได้ในสถานการณ์นี้” เป็นต้น

บางทีมันอาจจะเป็นประโยชน์มากกว่าถ้าเราใช้เวลาทบทวนดูว่ามีพฤติกรรมหรือว่าคำพูดแบบไหนที่ตัวเราต้องการให้คนอื่นปฏิบัติหรือพูดกับเรา และเมื่อรู้แล้วก็สื่อสารบอกเขาว่า คุณอยากได้รับ Empathy ผ่านถ้อยคำและการกระทำนั้นๆ

4. เราจะขอให้อีกฝ่ายมี Empathy ต่อเราอย่างไรที่ไม่ดูเป็นการเรียกร้องความสนใจหรือเอาแต่ใจตัวเอง
บางทีการถอยหลังมาหนึ่งก้าวเพื่อเตรียมตัวก่อนที่จะเริ่มสื่อสารความต้องการของเราเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าเราสื่อสารในขณะที่เรากำลังท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกมันการสื่อสารนั้นจะไม่ช่วยอะไร
หลายครั้งเวลาฉันทำงานในฐานะนักจิตบำบัด ฉันจะช่วยผู้รับการบำบัดเตรียมตัวทบทวนความต้องการของตัวเอง

เริ่มจาก

1. สำรวจวิธีที่จะสื่อสารความต้องการ
2. สำรวจว่าเขาคิดไหมว่าจะได้รับคำตอบแบบไหนเมื่อสื่อสารออกไป
3. จะถามด้วยว่ามันคุ้มไหมที่จะเอ่ยปากออกไป ถ้าคำตอบคือไม่ ฉันจะชวนเขาค้นหาแนวทางอื่นในการสื่อสาร

แล้วมันจะช่วยเขาบริหารความผิดหวังได้มาก หากเราช่วยเขาทบทวนและเตรียมใจก่อนที่จะไปสื่อสารจริงๆ เช่น ถ้าเขารู้แล้วว่าเขาต้องการถูกรัก เราก็ชวนเขาคิดต่อด้วยว่าการอยากได้รับความรักนั้น จากมุมของเขามันจะเกิดขึ้นผ่านการกระทำหน้าตาแบบไหน เราอยากเห็นคนอื่นแสดงออกถึงความรักต่อเขาอย่างไร เช่น แสดงความรักผ่านการกอด การใช้เวลาร่วมกัน หรือผ่านการบอกรักเป็นคำพูด เป็นต้น และเมื่อเขารู้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว เขาก็สามารถไปสื่อสารกับอีกคนได้อย่างชัดเจน ฉันว่าการสื่อสารให้ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงที่สุดจะดีกว่า

5. เราจะรับมือกับความรู้สึก Negative ต่างๆ ของตัวเอง เช่น โกรธ น้อยใจ กังวล ไม่มั่นคง ไร้คุณค่า ได้อย่างไร
ฉันเห็นทุกความรู้สึกเป็นเหมือนสัญญาณที่มีข้อมูลอยู่ในนั้น คล้ายกันเลยกับเวลาที่เรามีความรู้สึกทางร่างกาย เช่น ถ้าเจ็บเข่า.. มันก็หมายความว่าหัวเข่าต้องการการดูแลเอาใจ อะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นบางทีที่เรารู้สึกอะไรสักอย่างเราก็น่าจะหันมาถามตัวเองว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเรามันกำลังบอกอะไรกับเรา
ความรู้สึกมันไม่มีดีมีแย่ ความรู้สึกมันเป็นข้อมูล เพราฉะนั้นเพื่อที่จะเข้าใจมันเราสามารถมองมันคล้ายๆ กับ “หัวหอม” ที่มันมีเลเยอร์เป็นชั้นๆ และเพื่อที่จะเข้าใจตัวเราเองนั้นเราก็ควรเข้าใจไปทีละเลเยอร์
การตระหนักรู้และเท่าทันตัวเองมี 3 เลเยอร์ด้วยกัน เราใช้คำถามเป็นตัวนำทาง

หนึ่ง…. ฉันกำลังรู้สึกอะไร
สอง…. อะไรทำให้ฉันรู้สึกแบบนี้
สาม…. ความรู้สึกนี้เกิดจากความต้องการอะไรที่ถูกเติมเต็มหรือไม่ถูกเติมเต็ม

ตามที่มาร์สโลว์ (Marslow) ว่าไว้ว่าทุกอย่างที่มนุษย์ทำคือการเติมเต็มความต้องการของเรา ยกตัวอย่างเช่น ฉันมักเห็นว่าตัวเองคิดเรื่องงานบ่อยๆ คิดทวนบ่อยว่าวันนี้ฉันจะมีลูกค้ากี่เคสนะ แล้วฉันจะได้เงินเท่าไหร่นะสัปดาห์นี้ และการคิดแบบนี้มันก็แสดงให้เห็นว่าฉันกำลังกังวล ฉันกังวลเพราะว่าโควิดมันคาดเดาอะไรไม่ได้และมันก็กระทบปริมาณงานที่ฉันมีอยู่ตรงไปตรงมา งานน้อยตังค์น้อย ตังค์น้อยหมายถึงไม่มั่นคงมากขึ้น และไอ้ความไม่แน่นอนมันก็หมายความว่าความต้องการรู้สึกปลอดภัยของฉันไม่ได้รับการเติมเต็ม และเมื่อฉันรู้ชัดๆแล้วว่า ‘ฉันต้องการความปลอดภัย’ ฉันก็จะได้ไปคิดต่อว่าแล้วฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยขึ้น

6. รู้สึกว่าเป็นคนไวต่อการรับความรู้สึกด้านลบของคนอื่นมาก และไม่สามารถเอาความรู้สึกนั้นออกไปได้ (เช่น คนใกล้ตัวเครียดก็จะเครียดมากไปด้วย เจอคนดิ่งก็จะดิ่งไปด้วย) ทำอย่างไรดี
ในหัวข้อนี้ ก็จะตอบว่าให้กลับไปทบทวนที่หัวหอมเท่าทันตัวเอง Self- Awareness เราจำเป็นต้องค้นหาว่าเรามีความรู้สึกอะไร แล้วอะไรในการเห็นคนข้างๆ ดิ่งทำให้เรารู้สึกแบบนี้ แล้วลึกๆ ความต้องการอะไรของเราไม่ได้รับการเติมเต็ม
ส่วนใหญ่ความรู้สึกที่อยู่ในโซนลบๆมักจะแสดงออกให้เห็นว่าความต้องการไม่ได้รับการเติมเต็ม ย้อนกลับมาที่สถานการณ์ในคำถาม การเห็นเพื่อนเครียดมันให้ความหมายกับเรายังไง มันทำให้เรารู้สึกกังวลไปด้วยเพราะลึกๆเรากลัวว่าเขาจะมาลงที่เรา หรือรู้สึกเครียดไปด้วยเพราะอยากช่วยแล้วหาทางช่วยไม่ได้ อันนี้ก็แล้วแต่ว่าเราค้นหาไปเจออะไร

7. อารมณ์และพฤติกรรมของคนใกล้ตัวส่งผลเสียต่อความรู้สึกของเรา แล้วเราไม่สามารถทำอะไรได้ ได้แต่ทนๆ ไป จะจัดการความรู้สึกของตัวเองได้อย่างไร
อันนี้ก็ตอบยากนะเพราะไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าพฤติกรรมนั้นคืออะไร คำถามคือการถูกทำร้ายนั้นเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ฟังดูเหมือนว่าคนคนนั้นน่าจะมีอิทธิพลกับเรามากเลย อะไรทำให้คนคนนั้นมีอิทธิพลกับเรามากขนาดนี้ได้ ฉันจะอยากรู้และไปสำรวจตรงนั้น

*******
#empathysauce #15คำถาม #empathy

*******

15 คำถามคาใจเกี่ยวกับ Empathy (Part 2)