Book Now
Empathy Sauce SOULSMITH
empathy tips

15 คำถามคาใจเกี่ยวกับ Empathy (Part 2)

 

15 คำถามคาใจเกี่ยวกับ Empathy (Part 2)

ตอบคำถาม โดย            ทัศยา เรืองศรี นักจิตบำบัดและนักเล่นบำบัดจาก The Oasis

คำถามและเรียบเรียง: empathy sauce

(Part 1)

8.Self-Empathy คือการสงสารตัวเอง หลอกตัวเอง หรืออวยตัวเอง หรือเปล่า

Self- Empathy คือ การเข้าใจตัวเองโดยผ่านการมีการเท่าทันตัวเอง (Self- Awareness) เข้าใจว่าที่มาของความรู้สึกคืออะไร อะไรทำให้รู้สึก คิด และตัดสินใจทำสิ่งต่างไปในแบบที่เราเลือก และเมื่อไหร่ก็ตามที่วิถีที่เรารู้สึก คิด และเลือกทำมันไม่เวิร์คหรือเราเริ่มไม่ชอบมัน เราก็จะหาทางเปลี่ยนมันได้

การเข้าใจตัวเองถ่องแท้กันเราไม่ให้ตกไปอยู่ในบทบาทผู้ถูกกระทำ (Victim Role) ที่มักจะรู้สึกราวกับว่าโลกทั้งใบกำลังแกล้งเราอยู่เพราะรู้สึกว่าอะไรๆมันยากและใหญ่กว่าตัวเราไปหมด และรู้สึกว่าเราไม่มีอำนาจในการจัดการอะไรเลย เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกคล้ายๆแบบนี้ให้เริ่มค้นหาว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเหยื่อของโชคชะตาและอะไรยังล็อคเราให้อยู่ในบทบาทนี้

 

9.อยากให้ Self-Empathy กับตัวเอง แต่ไม่มีเวลา จะทำอย่างไร

ใช่ เรื่องนี้เข้าใจได้ว่าชีวิตก็ต้องดำเนินไปแล้วกระบวนการฝึกฝนที่จะเท่าทันตัวเองมันก็เรียกร้องแรงและเวลา บางทีเราสามารถเริ่มต้นเล็กๆจากการแค่สังเกตเห็นอารมณ์ตัวเองที่เกิดขึ้นในแต่ละวันและได้ยินวิธีที่ตัวเราพูดกับตัวเองทุกวันก็พอ แค่ตอบให้ได้ก่อนว่าเราพูดกับตัวเองดีไหม หรือเรากำลังโทษตัวเองมากเกินไปรึเปล่า

 

10. เราจะพูดคุยกับตัวเองได้อย่างไร

ผู้คนส่วนใหญ่มีบทสนทนากับตัวเองอยู่แล้วแต่บางคนแค่ไม่รู้ตัวว่าพูดอยู่ บางคนพูดออกมาดังๆ บางคนก็แค่พูดวนอยู่ในใจ ซึ่งสิ่งนี้ต่างจากคนที่มีอาการทางจิตเวชนะที่เราได้ยินเสียงหรือเห็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ ในความคิดเห็นของฉันการที่เราพูดคุยกับตัวเองในแบบที่เราคุยกับคนที่เรารักมันเป็นสิ่งที่ดีนะ คุยกับคนรักยังไงก็คุยกับตัวเองแบบนั้น

 

11. ถ้ากำลังอยู่ในภาวะ “ไม่รู้สึกอะไร / ไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งใด” จะรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างไร

เมื่อไม่ยินดียินร้าย สามารถเริ่มรับมือด้วยการสงสัยว่าภาวะนี้มันเกิดมาจากอะไร หรือสงสัยว่ามันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วช่วงนั้นมันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ความรู้สึกชาหรือไม่รู้สึกรู้สาอะไรอาจเป็นส่วนหนึ่งของกลไกป้องกันตัวเองของมนุษย์ที่เรียกว่า “Dissociation” (การตัดตัวเองออกจากการเชื่อมโยงกับสิ่งๆนั้น) ซึ่งมันเป็นกระบวนการที่กำลังจะปกป้องเราจากบางอย่าง ครั้งนึงนักจิตบำบัดของฉันถามฉันตอนรู้สึกคล้ายๆแบบนี้ว่า “ถ้าเอาความชาอันนี้ออกไป มันจะเหลืออะไร” วันนั้นคำถามนี้ช่วยฉันมากเลย

 

12. อยากให้คนรอบข้างมี Self-Empathy ต่อตัวเอง จะบอกเค้าอย่างไร
บางทีเราสามารถเริ่มได้จากการแสดงออกถึงความเข้าใจที่เรามีต่อเค้าก่อน โดยสะท้อนความรู้สึกของเขาที่เรารับรู้ได้ หรือถามไถ่ว่าเขาเป็นยังไงบ้าง วันของเขาเป็นอย่างไร หรือสัปดาห์ของเขาเป็นยังไงบ้าง

 

13. มีวิธีการพูดบอกอย่างไรให้เค้าเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง

ตอบคำถามนี้ด้วยคำถามข้างบนเลย เริ่มจากสะท้อนความรู้สึกของเขาที่เราเห็นออกมา เช่น วันนี้คุณดูแฮปปี้นะ หรือ คุณดูวิตกนะวันนี้ หรือมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นรึเปล่า บอกเราได้นะ นี่เป็นการเริ่มต้นสะท้อนสิ่งที่เขากำลังรู้สึกและเขาอาจจะยังไม่รู้ตัว

 

14. จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้พื้นที่ส่วนตัวลดลง เกิดความเครียดสูงขึ้น เราจะ Balance การมี Empathy ระหว่างคนรอบข้างอย่างไร
(การมอบ Empathy ให้อีกฝ่าย / การขอ Empathy จากอีกฝ่าย / การมอบ Empathy ให้ตัวเอง)

การรักษาสมดุลระหว่างการเอาเวลาไปเข้าใจคนอื่นกับเอาเวลามาเข้าใจตัวเอง สิ่งที่ง่ายสุดเลยคือเริ่มจากการ “ฝึก” ที่จะเข้าใจตัวเองก่อน ฝึกเข้าใจโลกภายในของตัวเองผ่านกระบวนการตั้งคำถาม Self- Awareness Onion (หัวหอม 3 ชั้น, คำถามข้อที่ 5) ที่เขียนไว้ตอนต้น จากนั้น ถามตัวเองว่าเราอยากได้อะไรตอนนี้ และฝึกที่จะมอบสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆตอนนี้
เมื่อใช้เวลาฝากกับตัวเองได้แล้ว มันก็จะง่ายขึ้นถ้าอยากจะเข้าใจความต้องการของคนอื่นเพราะเราฝึกกระบวนการทำความเข้าใจมาบ่อยแล้วกับตัวเอง และที่มากไปกว่านั้น…มันจะทำให้การบอกความต้องการของเรากับคนอื่นๆง่ายขึ้น เพราะเราจะสามารถทำมันได้ในทิศทางที่จะไม่หักล้างความต้องการของคนรอบตัว

 

15. สัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่า เราควรจะพบนักบำบัดหรือจิตแพทย์

สัญญาณที่บอกว่าน่าจะไปขอความช่วยเหลือเพิ่มคือเวลาที่กิจวัตรประจำวันเราถูกรบกวนจากสิ่งที่วิ่งวนอยู่ในใจ เช่น ตื่นได้ยาก นอนหลับลำบาก นอนหลับๆตื่นๆ หรือเริ่มขาดงานบ่อยๆ ขาดเรียนถี่ หรือเลิกที่จะดูแลตัวและใจตัวเอง

 

******************

#empathysauce #15คำถาม #empathy

********************

15 คำถามคาใจเกี่ยวกับ Empathy (Part 1)