กล่าวถึงบุคคลที่สามยังไง แค่ไหน ถึงจะยังรักษา “เกียรติ” ของเขาไว้ได้
รู้กันมานานว่าการกล่าวถึงคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในที่นี่มันเป็นการสุ่มเสี่ยงที่ควรเลี่ยง การเม้าท์ใครนินทาใครมักเสี่ยงกับการทำลายความสัมพันธ์และความไว้ใจได้ในพริบตา แต่ว่าในความเป็นจริง.. เราก็ยังต้องมีการกล่าวอ้างถึงคนที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้ากันบ้าง แต่พูดแค่ไหนที่ไม่เป็นการแสดงว่าเราไม่ให้เกียรติเขา
เรื่องนี้ถูกย้ำเมื่อตอนเรียนเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัด ตอนนั้นต้องเขียนรายงานถึงคนที่รับการบำบัดและต้องมีการเล่าถึงเคสต่างๆที่เราทำงานด้วยให้กับซุปเปอร์ไวเซอร์เพื่อรับคำชี้นำในการฝึกงาน แรกๆเรามีน้ำเสียงปนเหนื่อยและโอดครวญกับงานจนทำให้ดูราวกับว่าเรากำลังเม้าท์เคสที่เรากำลังทำงานด้วยไปโดยปริยาย แล้วซุปเปอร์ไวเซอร์ก็บอกเทคนิคเรียบง่าย สอนทีเดียวจำได้ตลอดกาล
เทคนิคคือ เมื่อต้องเขียนโน๊ตกล่าวถึงใคร ให้เขียนราวกับว่าเจ้าตัวเขาจะได้มาอ่านแล้วเขาจะยังรู้สึกโอเคที่เราเขียนข้อความเหล่านั้นถึงเขา ไม่ว่าเขาจะเด็กจะผู้ใหญ่ใช้หลักการเดียวกัน .. หรือ..ถ้าเราเล่าเรื่องของบุคคลไหนให้ใครฟังก็ให้จินตนาการว่าเจ้าตัวเจ้าของเรื่องเขานั่งร่วมวงและได้ยินสิ่งที่เรากำลังพูดถึงเขาตลอดเวลา แล้วเราก็คำนึงว่าเขาจะอายไหม เขาจะถูกดูถูกไหม เขาไม่พอใจไหม เขาจะทนฟังสิ่งที่เราจะพูดได้ไหม แล้วให้เลือกสื่อสารในวิธีที่เขาพอใจจะฟังและอยู่ฟังแบบไม่ถูกเบียดเบียนใจ เรียกว่ารักษาน้ำใจเขาระหว่างที่เราสื่อสาร.. หลังจากนั้นทุกครั้งที่เล่าเคสให้ซุปเปอร์ไวเซอร์ฟังเราจะจินตนการว่ามีเขาที่ถูกกล่าวถึงฟังอยู่ด้วย
เพราะ… ในชีวิตจริง..
บางทีเราแค่อยากปรึกษาวิธีร่วมงานกับเพื่อนบางคนให้กับเพื่อนอีกคนนึงฟัง แต่ภาษาและน้ำเสียงที่ไม่ระวังทำให้เพื่อนมองว่าเราเป็นคนขี้เม้าท์ไป ต่อหน้าก็เรียกชื่อเต็มตำแหน่งจริง แต่พอเอาไปพูดกับคนอื่นดันเต็มไอ้-อี ไม่ก็แปลงชื่อให้ใหม่เพื่อความสะใจ สิ่งนี้ลดความน่าเชื่อถือของตัวเองไปซะอย่างนั้น
เพราะ… บางทีเราเป็นหัวหน้า เรากล่าวถึงลูกทีมคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่งแบบไม่ระมัดระวัง เราก็เสียเครดิตและความน่าเชื่อถือไปง่ายๆ แถมจะก่อให้เกิดทัศนคติเสียดแทงภายในทีมตัวเองแบบไม่รู้ตัว
เพราะ… บางทีเราตั้งใจจะเล่าเรื่องแฟนให้เพื่อนฟัง แต่น้ำเสียงและสรรพนามที่เราเรียกใช้เขาดันลดทอนศักดิ์ศรีของเขาไปจนเราดูเป็นการเหยียดหยามคนรักมากกว่ามาปรึกษาหาทางออก
เพราะ… บางทีเราเล่าเรื่องที่เรากลุ้มใจกับลูกให้เพื่อนฟัง แต่เราดันพูดจาไม่ระวังถ้อยคำ เราก็เป็นผู้ปกครองที่ดูถูกเด็กและไม่มีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่ไปโดยปริยาย
เพราะ… บางทีเราเห็นคนอื่นที่เดือดร้อน เราเอาเขาไปเล่าลดทอนศักดิ์ศรีด้วยความสงสาร และยกตัวเองขึ้นสูงด้วยความสมเพชชีวิตคนอื่น แบบนี้มันก็เป็นการไม่ให้เกียรติคนคนนั้นไป แม้เขาจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นฟังมันก็ตาม
เพราะ… บางทีเราเขียนโพสต์ถึงคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เขียนในแบบที่เราก็ไม่เห็นว่าเขาจะมีโอกาสมาเดือดร้อนได้ยังไง แต่เราก็โดนคนในโซเชี่ยลกระหึ่มวิพากษ์ว่าเราไม่ให้เกียรติคนตาย
เพราะ… บางทีเราเห็นคนเดือดร้อนจากสงครามแล้วเราก็เอาเขามาล้อเล่นให้เป็นมุกขำกระจาย..แต่คนรอบๆก็ขำไม่ได้ เพราะมันเป็นท่าทีไร้มนุษยธรรมมากเกินกว่าที่ใครจะขำออก
เพราะฉะนั้น.. เทคนิคเรียบง่าย..
จิตนาการว่าเจ้าตัวเขาได้ยินน้ำเสียงเรา ได้อ่านข้อความเรา ได้เห็นสีหน้าท่าทางเรา ได้ฟังคำพูดเรา ก่อนจะเริ่มสื่อสารออกไป ค่อยๆกลั่นกรองเลือกใช้ท่าทีการสื่อสารที่มันไม่ไปบดบังหรือบั่นทอนศักดิ์ศรีและจิตใจใคร เท่านี้โลกเราก็กระทบกระทั่งกันได้เบาลง
…เราไม่สามารถหงายไพ่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้บ่อยมากนัก และการกล่าวถึงผู้อื่นแบบไม่ให้เกียรติทำลายความสัมพันธ์ได้ไวไม่ใช่น้อย และมันลดความน่าเชื่อถือและวุฒิภาวะของเราได้เร็ว