Book Now
Empathy Sauce SOULSMITH
Uncategorized

เวลาขออภัย เอาใครเป็นตัวตั้ง

เวลาเราขออภัย..เอาใครเป็นตัวตั้ง…

เวลาเราทำอะไรให้ใครเดือดร้อน ความรู้สึกผิดสามารถเกิดขึ้นในใจเราได้แม้เราจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจทำให้เกิดก็ตาม ซึ่งหากเราไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกร้อนใจนี้ได้ หรืออยู่กับความรู้สึกนี้ไม่ได้นาน หรือไม่รู้วิธีจัดการกับความรู้สึกอันไม่สบายใจนี้ หลายคนจะตัดสินใจจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้ามากกว่าจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง

การกล่าวขอโทษหรือขออภัยเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายความรู้สึกผิดในใจให้กับตัวเราได้ อีกทั้งมันยังเป็นการแสดงออกให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงความต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์ ต้องการประคับประคองใจ และอยากร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ทำลงไป มันคือการแสดงออกว่าเราห่วงใยความรู้สึกเขามากแค่ไหน การกระทำนี้มีฟังก์ชั่นช่วยปลดปล่อยทุกข์ในใจของเจ้าตัวร่วมไปกับการเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ มันเป็นท่าทีแห่งการตระหนักรู้และห่วงใยความรู้สึกของอีกฝ่ายที่เราไปเบียดเบียนเขา ..แบบนี้เอาความสัมพันธ์ความเชื่อมโยงระหว่างกันเป็นตัวตั้ง…

เช่น ขออภัยเพื่อนที่เราทำแก้วน้ำใบรักของเขาแตก ขออภัยคนบนรถไฟฟ้าเวลาของพะรุงพะรังของเราไปกระแทกใส่เขาตอนเดินผ่าน เป็นต้น

แต่..ในกรณีการดึงดันขอให้คนที่ (เราเป็นสาเหตุให้เขา) เดือดร้อนให้อภัยเรา ในขณะที่เขาอาจจะไม่ต้องการ อาจจะยังโกรธอยู่ หรือไม่สามารถอภัยให้เพราะยังไม่เห็นว่าเราสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาทุกข์ทนอยู่ แบบนี้เป็นการขอที่เอาความต้องการของตัวเราเป็นตัวตั้งจนไม่เห็นถึงจิตใจของคนอีกฝ่าย

การขอการอภัยแบบนี้สามารถเป็นฟังก์ชั่นเพื่อการจัดการกับความรู้สึกผิดของตัวเองเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีขึ้นเพื่อรักษาความสัมพันธ์หรือเยียวยาผู้ที่เดือดร้อน เพราะมันไม่ได้เกิดจากการแคร์ความรู้สึกอีกฝ่าย มันเป็นการขอเพื่อให้ตัวเองพ้นทุกข์โดยให้อีกคนเป็นกลไกคลี่คลายความทุกข์ใจนั้นให้ ซึ่งคนที่เดือดร้อนอยู่แล้วก็ต้องมา “ให้อภัย”อีก
มันคล้ายกับการสื่อสารว่า …..
‘ช่วยยกโทษออกจากออกฉันให้หน่อย’
‘ช่วยอภัยให้ด้วย..ฉันจะได้หลุดลอยพ้นจากระดับความรู้สึกผิดที่ท่วมท้นอยู่ปริ่มอกขึ้นมาบ้าง’
…หนึ่ง ..ทำเขาเดือดร้อนแล้ว
…สอง..ยังจะไปขอให้เขายกโทษให้เราเพิ่มอีก

..ครั้งหนึ่งเคยได้รับโทรศัพท์จากคนที่เคย bully เราในอดีต โทรมาเพื่อขอให้เรา “ให้” อภัย เพื่อที่ตัวเขาจะได้หลุดพ้นจากปมในใจและไปต่อ ครั้งนั้นก็ตอบเออออไป “เออๆให้อภัยแล้ว มีอะไรอีกไหม” บอกผ่านๆไปเพราะเวลาล่วงเลยมาหลายปี แต่ลึกๆโกรธกว่าเดิม

ตอนนั้นโกรธว่าเดิมเพราะโกรธมาตั้งแต่เขาเบียดเบียนเราตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งคำขอโทษที่จริงใจระบุได้ว่าทำอะไรลงไปก็ไม่เคยปรากฏมาก่อน มาคราวนี้ก็ไม่ได้นึกถึงหัวอกคนรับสายเลยว่าเขาอยากขุดคุ้ยเรื่องนี้ไหม อยากพูดถึงมันอีกไหม เขาอยากคุยกับคุณไหม หรือเขาอยากให้อภัยไหม แต่เขากลับต้องมาถูกร้องขอให้ทำอะไรอีกอย่างเพื่อปลดปล่อยคุณให้หลุดพ้นจากพันธการทางใจ อะไรทำให้คนโทรมาขออภัยนึกถึงแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง

หลายกรณี เมื่อคนที่เดือดร้อนยังไม่ตอบว่าให้อภัย คนขออภัยก็อ้อนวอนร้องขอเรื่อยไปจนอีกคนทนรำคาญไม่ไหวต้องตอบโอเคไป หรือไม่ก็กดดันทางศีลธรรมให้รู้สึกเป็นคนไม่ดีหากไม่ให้อภัย หรือไม่ก็มีโกรธกลับว่าทำไม่ไม่ให้อภัยไม่ให้โอกาสกันบ้าง อะไรแบบนี้สร้างความรู้สึกถูกเอาเปรียบและถูกใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดขึ้นได้ นี่มันคือการขอที่มากเกินไปหรือเปล่า นี่เบียดเบียนเราซ้ำสองหรือเปล่า คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นได้

การขออภัยคือท่าทีแห่งการห่วงหาอาทร เพียงแต่ควรประคองเจตนาการขออภัยให้ตรงจุด ไม่ใช่ทำไปแค่เพื่อจัดการตัวเองเพียงฝ่ายเดียว คำนึงถึงคนข้างหน้าด้วย

เมื่อจะขออภัยใคร..ให้มั่นใจว่าเราไม่ได้ไปกดดัน ดึงดัน หรือล้ำเส้นให้อีกฝั่งต้องให้อภัยได้ตอนนั้นเดี๋ยวนั้นในแบบที่เราต้องการ แต่ละคนก็มีจังหวะและความต้องการที่ต่างกัน หากเขาอยากจะโกรธคุณจนตายไม่อยากจะให้อภัยเลยก็เป็นสิทธิในการเลือกของเขา เราเองต่างหากที่จำเป็นต้องจัดการกับความรู้สึกผิดของตัวเองโดยที่ไม่ไปล้ำเส้นเขตแดนในสิทธิทางใจของคนอื่น

เมื่อเราขออภัยใคร .. ทำได้มากสุดคือร้องขอออกไป และ รอคอย
ส่วนเขา..เขาจะให้อภัยหรือไม่ให้อภัยมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา เขาก็เพราะมีสิทธิ์ได้เลือกว่าจะให้อภัยเราหรือไม่ให้อภัย และเขาก็มีสิทธิ์นั้นเสมอไป ตลอดกาล..