Book Now
Empathy Sauce SOULSMITH
empathy tips, Uncategorized

เจตนาดี ไม่เพียงพอ

หลายคนเคยถูกสอนว่าเมื่อใครทำอะไรควรดูที่เจตนาของเขา พอมาเป็นฝั่งเราที่จะทำอะไรสักอย่างเราก็เผลอคิดว่าเจตนาดีอย่างเดียวน่าจะพอ

เอาเข้าจริง..มีแค่เจตนาดีถือไว้ ไม่เพียงพอ..

เพราะ.. วิธีกระทำหรือพฤติกรรมที่เลือกมาส่งเจตนาออกไปสามารถบิดเบือนเจตนาตั้งต้นได้เหมือนกัน และในหลายครั้งการกระทำให้ผลที่ตรงกันข้ามไปอย่างสิ้นเชิงจากเจตนาที่แท้จริง

เช่น

#แม่ที่ห่วงลูกมาก แต่แสดงออกด้วยการดุ ด่า ตวาด และพูดจาแรงใส่ลูก ลูกก็รู้สึกเจ็บมากกว่ารู้สึกถึงความห่วงใย

#คนที่รู้สึกว่าเพื่อนสนิทความสำคัญของตัวเองน้อยลง แสดงออกด้วยการมึนตึงใส่คนนั้น พูดจากระแทกกระทั้น ประชดประชัน เพื่อนที่โดนประชดก็เข้าใจว่าเพื่อนเกลียด ไม่อยากให้เข้าใกล้

#ครูที่ต้องการสอนให้ลูกศิษย์จำไว้ว่าพฤติกรรมนี้ควรปรับปรุง แสดงออกด้วยการใช้อำนาจและความรุนแรงทำโทษจนหนักหน่วง เด็กก็เข้าใจว่าถูกทำร้ายจิตใจ เราได้ยินบ่อยกับคำว่า “ลงโทษเกินกว่าเหตุ”

#แฟนโกรธตะโกนไล่ “ออกไป ไปไกลๆ!!” ทั้งที่ความจริงคืออยากให้อีกฝั่งอยู่ด้วยจับใจ (และในความจริงพอแฟนไปจริงๆตามที่พูดไป ก็โกรธเป็นไฟกว่าเดิม)

 

ทำไมทำไม.. ทำไมคนเจตนาดีถึงแสดงออกด้วยวิธีที่ไม่ตรงกับใจ…

  1. ผู้ที่เจตนาดียังไม่รู้เลยว่าเจตนาที่แท้จริงของใจตัวเองคืออะไร เลยทำไปโดยไม่รู้จริงๆ มันเลยออกมาไม่ตรงเจตนา นั่นเป็นที่มาของความสำคัญในการรู้จักตัวเองและเข้าใจตัวเอง
  2. วิธีการแสดงออกเป็นแบบที่เคยได้รับมาหรือเคยพบเห็น เช่น เด็กๆก็เคยโดนดุ ตอนเป็นนักเรียนครูก็ทำโทษแรงๆ พอโตมาก็ทำคล้ายๆอย่างนั้น เป็นต้น
  3. ไม่เท่าทันอารมณ์ตัวเองที่มี — เจตนาดีแต่เจ้าตัวจัดการความรู้สึกไม่ได้ เช่น แม่ห่วงมากและก็โกรธด้วยที่ลูกทำให้กังวล แล้วแม่ก็ไม่ได้จัดการอารมณ์ตัวเอง พุ่งอารมณ์โกรธแนบไปกับเจตนา หน้าตาออกมาเป็นด่าพุ่งกลางแสกหน้าลูกไปเลย เป็นต้น และบางทีอารมณ์ที่แอบแฝงมาก็หลากหลาย เกลียดเอย อิจฉาเอย ไม่มั่นคงเอย การแสดงออกที่มีมันเลยบิดเบือนเจตนาไปไกล
  4. เหตุผลอื่นๆ (ลองอธิบายกันเองก็ได้ เราทุกคนเคยทำแบบนี้กันหมด)

 

แล้วจะให้ทำยังไง??

  •  เจตนายังไง/อยากได้อะไร ให้สื่อสารตรงๆออกไปอย่างที่เจตนา (สื่อสารตรงๆ ไม่เท่ากับ สื่อสารแรงๆทิ่มแทง)
  •  รู้สึกยังไง พูดออกไปตรงๆอย่างที่รู้สึก พูดออกมาเป็นคำๆจะช่วยให้อีกคนเข้าใจได้ง่าย ถ้าใช้น้ำเสียงและลีลาจะเสี่ยงให้เรื่องบานปลาย
  • ถ้าไม่ถนัดสื่อสาร ให้แสดงออกอย่างที่สอดคล้องกับเจตนา ถ้าห่วงแล้วไม่กล้าบอกก็ให้แสดงออกพ้องไปกับความห่วงใย

 

จะเริ่มสื่อสาร “ตรงกับเจตนาจริงๆ” ยังไง..

  1. ทำงานกับตัวเอง ใช้เวลาคิดใคร่ครวญกับตัวก่อนว่ารู้สึกอะไร/ต้องการอะไร
  2. เมื่อได้คำตอบ ใช้เวลาตัวเองจัดการอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมน้ำเสียงและท่าทีได้ (อันนี้ใช้เวลามากน้อยตามระดับทักษะจัดการอารมณ์แต่ละคน)
  3. เมื่อมีโอกาส/สร้างโอกาส/ รอโอกาส สื่อสารตรงๆ แสดงออกตรงๆ กับอีกฝ่าย
  4. โอกาสนั้นคืออะไร… เมื่อเขาพร้อมจะฟัง เมื่อเขาไม่ยุ่ง และเมื่อเขาไม่ท่วมท้นกับอารมณ์ของเขาเช่นกัน

 

ฝึกยังไง..

  • ฝึกระบุอารมณ์ตัวเองให้ได้ว่ากำลังมีความรู้สึกอะไร ฝึกตอนว่างๆ สุ่มฝึกระหว่างวัน ว่างๆก็ถามตัวเองขึ้นมาว่า “เอ…ตอนนี้เรามีอารมณ์อะไรอยู่นะ” เช่น สบายใจ กังวล ตื่นเต้น ระทึกใจ มีความสุข เป็นต้น
  • “เราต้องการสื่อสารอะไร” คำถามนี้ก็ใช้ฝึกเช่นกัน ใช้เวลาประมาณสักห้านาทีก่อนจะเข้าไปพูดอะไรกับใคร ถามตัวเองก่อนว่าจะเข้าไปคุยอะไร ต้องการอะไร และไม่ใช่แค่ถาม แต่ฝึกหาคำตอบที่ชัดเจนให้ได้กับตัวเองก่อนสืบเท้าเข้าไปเปิดบทสนทนากับคนอื่น
  • ฝึกการควบคุมอารมณ์ตัวเอง เงี่ยหูฟังเสียงตัวเองให้ดี ลองควบคุมโทนเสียงตัวเองให้มั่นคง เรียบ สงบ เท่าที่จะทำได้ดูบ่อยๆ บ่อยเท่าที่อยากเล่นสนุกกับตัวเอง สั่งกับข้าวด้วยเสียงสงบ บอกทางแท็กซี่ด้วยเสียงสุขุม โทรคุยกับcall centerด้วยเสียงราบเรียบ หรือะไรก็ได้ที่ทำให้เราเป็นผู้ควบคุมวิธีใช้เสียงของตัวเอง ใครจะงงหรือแปลกใจนั่นไม่ใช่กงการของเรา

 

เคล็ดลับ

  • ฝึกสามสิ่งด้านบนนี้เวลาอารมณ์ไม่ปรู๊ดปร๊าด ฝึกตอนภาวะใจยังไม่เข้าขั้นวิกฤต เพราะเวลาวิกฤตไม่ใช่เวลาฝึก
  • ฝึกยิ่งบ่อยยิ่งทำได้ไว แค่คิดได้แต่ไม่ฝึก = ไม่เกิดทักษะเพิ่มขึ้น

 

#empathysauce #สื่อสารตรงกับใจ #เจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ