Book Now
Empathy Sauce SOULSMITH
empathy tips

ยืนหยัดอย่างเข้าใจ บอก ‘ไม่’ แบบไม่รู้สึกผิด

ยืนหยัดอย่างเข้าใจ บอก ‘ไม่’ แบบไม่รู้สึกผิด

การยืนหยัดจุดยืน ช่วยยังไงใน empathy และการมี empathy ก็ช่วยในการยืนหยัดได้ยังไง

หลายครั้งที่เครียดทวีคูณเพราะเราไม่กล้าบอกความต้องการที่แท้จริงกับคนใกล้ตัว กลัวโกรธกัน กลัวมองหน้ากันไม่ดี แต่..การยอมเกินไป หรือไม่ก็ทนทำสิ่งที่ไม่ต้องการมากๆก็ทำให้เราท่วมท้นไปเอง

การมี empathy ไม่ได้แปลว่าเราจะทำตัวใจอ่อน ใจดี ใครขออะไรก็ให้ ใครส่งอะไรมาก็ชมอย่างเดียว

ตรงกันข้าม.. การมี empathy หรือการเข้าใจคนอื่น ทำให้เราปฏิเสธหรือยืนยันความ “ไม่ต้องการ” ได้อย่างมั่นใจ ช่วยให้เราปฏิเสธได้อย่างพอมีเยื่อใย และคอมเม้นท์งานได้อย่างมั่นใจว่าเราจะไม่โกรธกัน

การยืนหยัดในจุดยืนของตัวเอง คือ …รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรหรือไม่ต้องการอะไร รู้สึกยังไง และรู้ขอบเขตพื้นที่สิทธิของตนเองในแต่ละสถานการณ์อยู่ตรงไหน ทำให้แต่ละคนสามารถมอบ empathy หรือความเข้าใจเรื่องพื้นที่ของคนอื่นได้อย่างสบายใจ

เพราะเรารู้ว่าการทำความเข้าใจคนอื่นที่ไม่ได้คิดเหมือนเรา ไม่ได้แปลว่าเราจะเสียจุดยืนของเราไป เพราะฉะนั้นเราจึงไม่กลัวที่จะเอาใจเราไปนั่งข้าง ๆ ใจของใครต่อใคร เพื่อเข้าใจเขาได้มหาศาล

หลายคนไม่อยากมี empathy ให้ใคร เพราะกลัวใจตัวเองว่าถ้าเข้าใจคนอื่นรอบตัวแล้ว ใครขออะไรก็ให้ เช่น หัวหน้ากลัวจะรู้เรื่องส่วนตัวของสมาขิกในทีม แล้วทำให้ใจอ่อนโอนเอนจนเสียกระบวนการทำงาน หรือถ้าเกิดรู้ที่มาที่ไปของการกระทำของคนทำผิด แล้วจะไม่กล้าตัดสินเอาผิดเขาให้หลาบจำ เป็นต้น

ใจแข็งรักษาดินแดนความต้องการของตัวเองได้อย่างเข้าอกเข้าใจผู้อื่น.. เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ..ตราบใดที่ไม่ล้ำเส้นไปตราหน้า เหมารวมหรือใส่ร้ายคนอื่น เราสามารถยืนหยัดได้มากเท่าที่ต้องการ นานเท่าที่อยากจะยืน ให้มั่นใจว่าพูดยังไง ให้สิ่งที่เราสื่อสารยังอยู่ในวงขอบเขตของตัวเอง

พูดสิ่งที่ตัวเองเห็น ตัวเองคิด ตัวเองต้องการ พอ.. เช่น

หากต้องพัฒนางานด้วยการชี้ข้อด้อยให้ทีมงานปรับปรุง…เราก็ยังยืนหยัดชี้ให้ทุกคนเห็นให้ได้ แต่..เราจะทำในวิธีที่อีกฝั่งไม่โดนเหยียบย่ำหัวใจ ไม่ใช่ชมอย่างเดียวเรื่อยไปเพราะกลัวเขาจะหมดกำลังใจแต่ไม่เห็นข้อพัฒนาอะไร..

ตัวอย่างการพูดในวงตัวเอง…. “เราคิดว่ามันมีหลายจุดที่ต้องการการคิดเพิ่มและทบทวน มันยังห่างไกลจากผลลัพธ์ที่คุยกันไว้”

ตัวอย่างการทะลุล้ำเส้นคนอื่น… “ทำงานอย่างนี้คิดดีแล้วใช่ไหม “

เมื่อต้องการปฏิเสธงานที่ล้นมือเกินไป เราก็ควรทำได้ด้วยภาษาและท่าทีที่รู้ความต้องการของอีกฝ่าย ไม่ใช่รับงานมาทั้งหมดเพราะกลัวอีกฝั่งมองว่าเราไม่เก่ง

ตัวอย่างการพูดในวงตัวเอง…. “เราไม่เห็นตัวเองรับงานเพิ่มได้ตอนนี้ และเห็นเลยว่าถ้ารับมาแล้วงามเดิมจะพังและงานใหม่จะส่งไม่ทัน”

ตัวอย่างการล้ำเส้นคนอื่น…. “หัวหน้าสั่งงานแบบนี้ไม่รู้รึไงว่ามันทำไม่ได้! ใครจะไปทำทัน!”

เมื่อคนมาขอสิ่งที่เราให้ไม่ได้ เช่น เวลา คำแนะนำ หรือคำตอบในบางเรื่อง เราก็สามารถตอบปฏิเสธได้ด้วยการประคับประคองใจ ไม่ใช่ยินยอมเบียดเบียนตัวเองให้เขาไปทั้งๆที่ใจเราก็ไม่ไหว

ตัวอย่างการพูดในวงตัวเอง…. “เรารู้ว่าเธออยากได้คำตอบ แต่ไม่สามารถให้คำตอบได้ เสียใจด้วยที่ไม่ได้อย่างที่ต้องการ”

ตัวอย่างการพูดล้ำเส้นคนอื่น…. “เธอขอเราแบบนี้เลยเหรอ อ่ะก็ได้” หรือ “เธอทำไมเห็นแก่ตัวแบบเนี้ย ไม่รู้เหรอว่าทำให้คนอื่นอึดอัด”

อะไรที่ต้องยืนหยัดก็สามารถยืนหยัด แต่สิ่งที่สามารถผ่อนและยืดหยุ่นคือวิธีการสื่อสารผ่านคำพูด น้ำเสียง และภาษาท่าทางต่างๆเพื่อไม่ให้ล้ำเส้นไปขีดข้ามวงส่วนบุคคลของคนอื่น เช่น เลือกคำพูดยังไงให้ไม่ทิ่มแทงกระแทกกระทั้น ใช้โทนเสียงยังไงไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน

และใช้ท่าทีอย่างไรให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราก็แคร์ความรู้สึกเขาเช่นกัน

ไม่จำเป็นต้องยอม ในสิ่งที่ยอมไม่ได้ ..

ทุกคนมีสิทธิ์ยืนหยัดได้ ทุกการยืนหยัดสวยงาม มันคือความแข็งแกร่งแบบที่ไม่พุ่งปะทะกลับหรือเบียดเบียนเข้าตัว การยืนหยัดสามารถแสดงออกได้ด้วยท่าทีที่เข้าอกเข้าใจอีกฝ่ายได้